ความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อ การจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้

ความหมายของนวัตกรรม

คำว่า นวัตกรรมเป็นคำที่ค่อนข้างจะใหม่ในวงการศึกษาของไทย คำนี้ เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation มาจากคำกริยาว่า innovate แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ในภาษาไทยเดิมใช้คำว่า “นวกรรม” ต่อมาพบว่าคำนี้มีความหมายคลาดเคลื่อน จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า นวัตกรรม (อ่านว่า นะ วัด ตะ กำ) หมายถึงการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าวงการหรือกิจการใด ๆ ก็ตาม เมื่อมีการนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย

 ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา

            “นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น

ความหมายของเทคโนโลยี

             “เทคโนโลยี”หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การนำแนวคิด หลักการ เทคนิค วิธีการ กระบวนการ ตลอดจนผลิตผลทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในระบบงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงระบบงานนั้นๆ ให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และเอื้ออำนวยในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. ด้านประสิทธิภาพ (Efficiency)
  2. ด้านประสิทธิผล (Effectiveness)
  3. ประหยัด (Economy)
  4. ปลอดภัย (Safety)

ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา

              “เทคโนโลยีการศึกษา” หมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา การพัฒนา และการประยุกต์วัสดุ เครื่องมือ วิธีการ เพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศนศึกษา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากโสตทัศนศึกษาหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ตาดูหูฟัง ดังนั้นอุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัส ด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนอุปกรณ์

คำที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

 

  1. การจัดการ หมายถึง ชุดของหน้าที่ต่าง ๆ ที่กำหนดทิศทางในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งหลายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient) หมายถึง การใช้ทรัพยากรอย่างเฉลียวฉลาด และคุ้มค่า ส่วนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล (Effective) หมายถึงการตัดสินใจอย่างถูกต้อง และมีการปฏิบัติการได้สำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนั้น ผลสำเร็จของการจัดการต้องมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลควบคู่กันไป
    การบริหาร หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆอย่างที่บุคคลร่วมกันกำหนดโดยใช้กระบวนอย่างมีระบบและให้ทรัพยากรตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม (สมศักดิ์ คงเที่ยง , 2542 : 1)
  2. นวัตกรรม หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
  3. เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ตามรูปศัพท์ เทคโน (วิธีการ) + โลยี(วิทยา) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา ครอบคลุมระบบการนำวิธีการ มาปรับปรุงประสิทธิภาพของการศึกษาให้สูงขึ้นเทคโนโลยีทางการศึกษาครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ
  4. ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เช่น บุคคล สิ่งของสถานที่ ฯลฯ ข้อมูลเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องข้อมูลต้องถูกต้องแม่นยำครบถ้วนขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินการที่ให้ความสำคัญของความรวดเร็วของการเก็บข้อมูล
  5. สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่า สารสนเทศ เกิดจากการนำข้อมูล ผ่านระบบการประมวลผล คำนวณ วิเคราะห์และแปลความหมายเป็นข้อความที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น สารสนเทศที่เป็น ความรู้ที่เกิดจากวิทยุ โทรศัพท์มือถือ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รอบตัวเราซึ่งอาจมาจาก วิทยุ โทรทัศน์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ดาวเทียม โทรศัพท์ เครื่องจักร ที่เกี่ยวกับสารสนเทศได้ เครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ เช่น การฝาก ถอนเงินผ่านเครื่อง ATM การจองตั๋วเครื่องบิน การลงทะเบียน ฯลฯ
  6. ระบบสารสนเทศ (Information System ) หมายถึง ระบบที่มีการนำคอมพิวเตอร์
    มาช่วยในการรวบรวม จัดเก็บ หรือจัดการกับข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ข้อมูลนั้นกลายเป็น
    สารสนเทศที่ดี สามารถนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจได้ในเวลาอันรวดเร็วและถูกต้อง
  7. ระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศ ช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร
  8. การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา โดยคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งต้องการ
  9. เครือข่าย หมายถึง กลุ่มของคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ถูกนำมาเชื่อมต่อกันดังนั้นเครือข่าย คอมพิวเตอร์จึงประกอบด้วยสื่อการติดต่อสื่อสาร อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นในการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 2 ระบบเข้าด้วยกัน รวมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ
  10. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข่าวสาร ข้อมูลและการสื่อสาร นับตั้งแต่การสร้าง การนำมาวิเคราะห์ หรือประมวลผลการรับและส่งข้อมูล การจัดเก็บและการนำไปใช้ใหม่ เทคโนโลยีเหล่านี้ มักจะหมายถึง คอมพิวเตอร์ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ (hardware) ส่วนคำสั่ง (software) และส่วนข้อมูล (data) และระบบการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ระบบสื่อสารข้อมูล ดาวเทียม หรือ  เครื่องมือสื่อสารใดๆ ทั้งมีสายและไร้สาย
  11. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ ข่าวสาร ข้อมูลและการสื่อสารสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผล ฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การ วางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อการสื่อสารนั้น จะมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของใช้งาน เช่น บางครั้งอาจจะใช้เทคโนโลยีดาวเทียม เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ระบบ e-Learning หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษา

นวัตกรรมการศึกษาเกิดขึ้นตามสาเหตุใหม่ๆ  ดังต่อไปนี้

  1. การเพิ่มปริมาณของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้นักเทคโนโลยีการศึกษาต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ  มาใช้  เพื่อให้สามารถสอนนักเรียนได้มากขึ้น
  2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว  การเรียนการสอนจึงต้องตอบสนองการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ  ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เร็วและเรียนรู้ได้มากในเวลาจำกัดนัก เทคโนโลยีการศึกษาจึงต้องค้นหานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้
  3. การเรียนรู้ของผู้เรียนมีแนวโน้มในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ตามแนวปรัชญาสมัยใหม่ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  นวัตกรรมการศึกษาสามารถช่วยตอบสนองการเรียนรู้ตามอัตภาพ  ตามความสามารถของแต่ละคน
  4. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ส่วนผลักดันให้มีการใช้ นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

    การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ  มาใช้ในกระบวนการศึกษา ด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้

    1. ความเจริญอย่างรวดเร็วทางด้านวิชาการต่างๆ  ของโลก  โดยเฉพาะระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา วิทยาการใหม่ๆ  และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ  ได้ถูกค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในสังคมมากมายเป็นทวีคูณ  ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ของสถานศึกษา  และส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อไปถึงปัญหาการเรียนการสอน  การเลือกโปรแกรมและการทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระใหม่ๆ  ของนักเรียน  ความรุนแรงและความสลับซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ปริมาณเนื้อหาวิชาการใหม่ๆ  มีมากมายเกินความสามารถของผู้เกี่ยวข้องจะเลือกบันทึกจดจำและนำเสนอในลักษณะเดิมได้  จึงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับ สถานการณ์เข้ามาช่วย  เช่น  การเสนอข้อมูลทางวิชาการโดยเทปบันทึกเสียง  เทปบันทึกภาพ  ไมโครฟอร์ม  และแผ่นเลเซอร์  การแนะแนวการเรียนโดยระบบคอมพิวเตอร์  เป็นต้น
    2. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม  ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้ว  มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต  การปรับตัวและพัฒนาการของนักเรียน  การแนะแนวส่วนตัวและสังคมแก่นักเรียน  จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ  จึงจะสามารถให้บริการครอบคลุมถึงปัญหาต่างๆ  ได้
    3. ลักษณะสังคมสารสนเทศหรือสังคมข้อมูลข่าวสาร  ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์  และเทคโนโลยีโทรคมนาคม  ทำให้ข่าวสารทุกรูปแบบ  คือ  เสียง  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  กราฟิก และข้อมูลคอมพิวเตอร์สามารถถ่ายทอดและส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็วทุกมุมโลก  สังคมในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นสังคมที่ท่วมท้นด้วยกระแสข้อมูลและข่าวสาร

ความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการศึกษาหลายประการ  คือ

  1. เพื่อให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
  2. เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาในบางเรื่อง เช่น ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนผู้เรียนที่มากขึ้น การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยการผลิตและพัฒนาสื่อใหม่ ๆ ขึ้นมา
  4. เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วยระยะเวลาที่สั้นลง
  5. การใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ในระบบการบริหารจัดการด้านการศึกษาก็มีส่วนช่วยให้การใช้ทรัพยากรการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เนื่องจากในโลกยุคโลกาภิวัตต์โลกมีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ  การศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม  เพื่อ ให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  อีกทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านศึกษาบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยว กับนวัตกรรมการศึกษาที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางการศึกษาในบางเรื่อง  เช่น  ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน  จำนวนผู้เรียนที่มากขึ้น การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย  การผลิตและพัฒนาสื่อใหม่ๆ  ขึ้นมาเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วยระยะเวลาที่สั้นลง  การใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ในระบบการบริหารจัดการด้านการศึกษาก็มีส่วนช่วยให้การ ใช้ทรัพยากรการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

  1. เทคโนโลยีการศึกษาทำให้การเรียนการสอน มีความหมายมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ กว้างขวาง เรียนได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้สอนมีเวลาให้ผู้เรียนมากขึ้น

2.เทคโนโลยีการศึกษาสามารถตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตาม ความสามารถของผู้เรียน การเรียนการสอนจะเป็นการตอบสนองความสนใจและความต้องการของแต่ละบุคคลได้ดี

3.เทคโนโลยีการศึกษาทำให้การจัดการศึกษา ตั้งบนรากฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้การจัดการศึกษาเป็นระบบและเป็นขั้นตอน
4.เทคโนโลยีการศึกษาช่วยให้การศึกษามีพลังมากขึ้น การนำเทคโนโลยีด้านสื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้การศึกษามีพลัง
5.เทคโนโลยีการศึกษาทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง และได้พบกับสภาพความจริงในชีวิตมากที่สุด
6.เทคโนโลยีการศึกษาทำให้เปิดโอกาสทางการศึกษาทั้งๆ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

คุณค่าและประโยชน์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษาและการเรียนการสอน
        การนำนวัตกรรมทางการศึกษาไปใช้จัดการเรียนการสอน  นอกจากจะส่งผลให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของรายวิชาแล้ว  ยังมีประโยชน์ดังนี้ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

1.ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนเป็นรูปธรรม
2.ช่วยให้บรรยากาศการเรียนรู้ สนุกสนาน
3.ช่วยให้บทเรียนน่าสนใจ
4.ช่วยลดเวลาในการสอน
5.ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
6.ช่วยพัฒนาศักยภาพ และความสามารถสูงสุดของบุคคล
7.ช่วย ขยายขอบเขตความรู้ และโลกทัศน์ทางวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8.ช่วยลดปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
9.ช่วยเปิดโอกาสทางการเรียนให้กับผู้เรียนอย่างทั่วถึง
10.ช่วยให้คนสามารถปรับตัวในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
11.ช่วยให้ผู้เรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติม

ใส่ความเห็น